VIDEO CR : proonky
ชื่ออื่นๆ : Ahimsa Stop to Run
ชื่อไทย : อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม
ผู้กำกับ : กิตติกร เลียวศิริกุล
ผู้แต่ง : กิตติกร เลียวศิริกุล
วันเข้าฉาย : 20/10/2005
ประเภท : Comedy, Drama
ความยาว : 90 นาที
เรท : เรท G
สถานที่ถ่ายทำ : Thailand
ภาษา : ไทย
เนื้อเรื่องย่อ อหิงสา (บริวัตร อยู่โต) จิ๊กโก๋เดินดินนายหนึ่ง เกิดมาในยุคสมัยที่โลกหมุนเร็วรี่ด้วยไฮ-สปีดอินเตอร์เน็ต สื่อมวลชนกำลังแตกตื่นกับผลเสียของการตัดต่อพันธุกรรม สมัยเด็กอหิงสาเคยป่วยหนัก หมอโรงพยาบาลรักษาไม่ได้ พ่อแม่เลยพาอหิงสาไปรักษาด้วยพิธีเหยียบเสน ศาสตร์ลี้ลับที่ไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ โตเป็นหนุ่ม อหิงสาใช้ชีวิตสุดขั้วอยู่ในหมู่เพื่อนเพี้ยนๆ อย่าง อุโฆษ (ปริญญา งามวงศ์วาน) และ ไอน์สไตน์ (จอนนี่ อันวา) อหิงสาโดนรังควาญไม่หยุดหย่อน จาก “ไอ้เวรกรรม” (ธีรดนัย สุวรรณหอม) ไอ้บ้ามาจากไหนไม่รู้ แค่เห็นหน้ามันก็ปวดประสาท บ้าสีแดง หัวจรดเท้ามีแต่สีแดง รองเท้าแดง เสื้อแดง หัวแดง มันคอยโผล่มาว่าแดกดัน ประชดกวนบาทาก็เท่านั้น ยียวนกวนประสาทไม่เลิกรา พอถามกลับว่า “มึงเป็นใคร?” ดันตอบว่า เป็นไอ้เวรจริงๆ แล้วไอ้เวรหัวแดงนี้ อหิงสาสู้กับ ไม่มีวันชนะ มือหนัก ตีนยิ่งหนัก บทลงไม้ลงมือก็เล่นแรงๆ เล่นของหนัก ไม้หน้าสามงี้ ขับรถบี้งี้ กระทืบเอากันถึงตาย ไม่ว่าอหิงสาจะควบหนีสุดฝีเท้าขนาดไหน “ไอ้เวร” นี่ ก็ยังกวดไล่มาติดๆจ่อเข้ามาชนิดหายใจรดต้นคอได้ทุกที ราวกับฟ้าสร้างให้มันรู้ทันอหิงสาไปทุกย่างก้าว “พัทยา” (ธรัญญา สัตตบุศย์) คุณหมอคนสวย มีแฟนเป็นตำรวจ “มารุต” (กิรเดช เกตกินทะ) ชีวิตหญิงสาวพรั่งพร้อมดูดีอย่างพัทยา ไม่น่าจะมาข้องแวะกับจิ๊กโก๋อย่างอหิงสาได้ แต่ก็คล้ายมีบางอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว อหิงสากำลังเจอกับอะไรกันแน่ ? เวรกรรม ,ความรัก? หรือทั้งสองอย่าง? จริงอยู่ ...เวรกรรมของใครของมัน ต้องสู้กันเอาเองถึงจะสู้กับ ไม่เคยชนะ แต่งานนี้ต้องหันหน้าสู้เท่านั้น !
ระหว่างที่เมืองไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกำลังเผ็ดร้อนด้วยรสแสบของ
ต้มยำกุ้ง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีหนังไทยเล็ก ๆ อยู่เรื่องหนึ่งที่ได้สร้างเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่ค่อยจะเกิดนักในแวดวง หนังไทยบ้านเรา
“ขอเชิญมาดูหนัง
อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม รอบพิเศษ … รอบนักวิจารณ์”
ไม่มีโอกาสบ่อยนักหรอกที่นักวิจารณ์จะมีความสำคัญพอที่จะได้ดูรอบ พิเศษของตนขนาดนี้ อย่างมากก็ถูกเอาไปฝากรวม ๆ เป็นสื่อมวลชนทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จัดฉายเพียงสามสี่วันก่อนหนังฉาย ยิ่งหนังแย่มากขึ้นเท่าไร พวกเราก็จะได้ดูหนังในระยะกระชั้นชิดมากยิ่งขึ้น บางทีวันสองวันก่อนหนังเข้าโรงฉายก็มี
แต่ถ้าเหล่านักวิจารณ์ได้รับเชิญถึงสองเดือนล่วงหน้า มันก็เหมือนมีนัยบอกอะไรบางอย่าง หนึ่งก็เพราะเขามั่นใจในงานของตน สองเพราะเขารู้ว่าหนังเรื่องนี้จำเป็น ต้องอาศัยการบอกปากต่อปาก
อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม หนังเรื่องที่สองในรอบปีของเรียว กิตติกร ถัดจากหนังที่หนุ่ม ๆ หลายคนไม่ชอบเลยถึงขนาดบอกว่าเป็นหนังแย่ที่สุดของปีอย่าง
เดอะเมีย บาง ทีเรียวอาจจะไม่เหมาะที่จะทำหนังผู้หญิง เพราะเมื่อเขาหันมาทำหนังที่เด็กหนุ่มเป็นตัวละครหลักอย่างเรื่องหลังแล้ว ฝีมือมันแตกต่างกันคนละชั้นอย่างเห็นได้ชัด
เล่าเรื่องอย่างย่อ ๆ สั้น ๆ ตามประสาความคุ้นเคย เวลาเขียนวิจารณ์ให้ฝรั่ง เรื่องย่อเหลือสามบรรทัดหรือไม่เกิน 50 คำ เพราะฝรั่งจ่ายค่าเรื่องเป็นคำ (Cahiers du Cinema นับเป็นตัวอักษรด้วยซ้ำ) อย่าง
ย่อ อหิงสาจิ๊กโก๋มีกรรม เป็นเรื่องราวของอหิงสา เด็กหนุ่มที่มักจะถูกติดตาม รังควาญ รังแก กวนใจจากไอ้หนุ่มหน้าแปลกในชุดไนกี้สีแดง มันไล่เตะ ถีบ ต่อย อหิงสาเป็นว่าเล่น บอกแต่เพียงว่ามันคือ “กรรม” ของอหิงสา
งานนี้ขอเล่าเกินสามบรรทัด เพราะเขียนเป็นภาษาไทยและรับค่าเรื่องกับตัวเอง ขณะที่อหิงสาเริ่มถูกไอ้เจ้า “กรรม” ในชุดสีแดงตามรังควาญชีวิตเขานั้น ก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดมากมาย อหิงสา “เห็น” สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเขากับคนใกล้ตัวล่วงหน้า
ปัญหาก็คือ ไอ้สิ่งที่เขาเห็นนั้น มันคืออะไรกันแน่ ระหว่าง “กรรมเก่า” หรือ “อาการปราสาทหลอนจาก“ ยาเม็ดสีขาวที่ไอน์สไตน์ เพื่อนเจ้าของบาร์ผู้แนะนำให้เขาลอง
อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม เป็นหนังสไตล์ เป็นหนังของคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้นบทสนทนาจึงเน้นคำพูดที่จะกระทบใจคนรุ่นใหม่หรือวัยจ๊าบทั้งหลายได้อย่างดี “ไอ้เ - ย เดินระวังหน่อยสิครับ” “มึงเป็น ตุ๊ดตุด ตุ๊ดตุด ตุ๊ดตุด” เหมารวมว่าเป็นภาษาวัยรุ่น เพราะแบบนี้คนเขียนไม่กล้าพูดกับเพื่อนร่วมรุ่น คงถูกมองหน้าไม่มีดี เห็นได้ชัดว่า ผู้กำกับตั้งใจที่จะเล่นสไตล์กับหนังเรื่องนี้มากกว่าหนังที่มุ่งเอาเงิน ก่อนหน้านี้ หนังใช้มุมกล้องแปลก ๆ ใช้ฟิลม์ที่จะถ่ายทอดโทนอึดอัดของเรื่อง ใช้การตัดต่อที่ฉับไว ไม่เล่าเรื่องเป็น 1, 2, 3, 4
หรือถ้าจะสรุปอย่างง่าย ๆ เรียวกำลังเอาเรื่องเชย ๆ จากความรู้สึกของคนรุ่นใหม่อย่างศาสนาพุทธ อย่างกรรมมาพูดในภาษาของคนสมัยใหม่
แต่เรียวขมวดปมหนังให้ซ้ำซ้อนมากขึ้นด้วยการสร้างเงื่อนงำเรื่องการเสพยา เม็ดสีขาวของอหิงสาและเพื่อน ๆ ให้คนดูไปคิดเอาเองว่ากรรมนั้นมีจริงหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ มันอาจจะเป็นกรรมเก่าที่ตามมาจริง หรือเป็นเพียงอาการปราสาทหลอนมาจากยาเม็ดที่พวกเขากินเข้าไปเหล่านั้น
เรียวใช้ภาษาหนังได้ดี ไม่ว่าจะเป็นมุมกล้อง การเลือกฟิลม์ที่จะใช้ เพราะเขาสามารถสร้างบรรยากาศอึดอัดได้เกือบตลอดเรื่อง แม้กระทั่งเพลงที่เขาเลือกได้อย่างเหมาะเจาะกับเนื้อเรื่อง หลายเพลงกระทบใจวัยรุ่นหรือสารเคมีรุ่น ๆที่หลบอยู่ในซอกมุม
ถ้าหนังจะมีปัญหาก็คงเป็นเรื่องของการตัดต่อในช่วงแรก เรียวเล่นกับการตัดต่อมากเกินไปหน่อย จนหนังช่วงครึ่งชั่วโมงแรกดูจะเข้าใจยากไปสักนิด บางครั้งดูเหมือนเทรลเลอร์หนังตัวอย่างไปด้วยซ้ำ จนผู้เขียนอดรู้สึกไม่ได้ว่าเดี๋ยวคงกลับบ้านได้แล้ว
แต่เมื่อหนังดำเนินเรื่องผ่านไปครึ่งชั่วโมง ตั้งแต่ี่อุโฆษถูกกะเทยข่มขืน จนเขาตัดสินใจฆ่าตัวตายในที่สุด หนังเริ่มมีน้ำหนัก มันสร้างความอึดอัดไปทั่ว
และที่สำคัญ ที่สุดก็คือการแสดง นักแสดงในเรื่องนี้เล่นได้ดีแทบทุกคน โดยเฉพาะปริญญา งามวงศ์วานที่รับบทเป็น “ อุโฆษ ” และไพฑูรย์ ไหลสกุล ผู้รับบทเป็นกะเทยข่มขืนอุโฆษ ตอนที่ดูหนังนั้น ผู้เขียนจำเขาไม่ได้เลย จำได้แต่ว่าพ่อคนนี้น่าขยะแขยงเหลือเกิน และเข้าใจความรู้สึกของอุโฆษที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายเสีย ใครจะไปรู้ว่าพ่อคนนี้คือคนที่เล่นเป็น “ คนหน้าขาว ” ที่เราคุ้นเคยอยู่ตลอดเวลา
ผู้เขียนกำลังจะแนะนำหนังเรื่องนี้ให้กับเทศกาลหนังที่อิตาลีแห่งหนึ่ง ห่วงก็แต่ว่าฝรั่งจะเข้าใจเรื่องของกรรมหรือไม่ เพราะฝรั่งไม่มีความคิดในเรื่องกรรม ตอนที่ดูนั้นก็นั่งถกกับเพื่อนว่าจะแปลคำว่ากรรมในภาษาอังกฤษได้อย่างไร เพราะภาษาอังกฤษก็ใช้ทับศัพท์ว่า karma
อหิงสาจิ๊กโก๋มีกรรม เป็นหนังที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเรียว กิตติกร ก็ทำหนังดีได้ คล้ายกับที่เขาเคยทำ
โกลคลับ นี่เป็นหนังไทยเล็ก ๆ ที่ลงตัวมากที่สุดในปีนี้
!